ปฏิกิริยาของประชาชน ของ รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

ในประเทศไทย

ฝ่ายสนับสนุน

ทหารได้รับดอกไม้จากผู้สนับสนุนอาหารที่ประชาชนผู้สนับสนุนนำมาให้กับทหาร
  • ประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาให้กำลังใจทหารที่จุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปฯ โดยแสดงความชื่นชมเหล่าทหาร ด้วยการมอบดอกไม้ ส่งยิ้ม ถ่ายรูปด้วย กระทั่งมีการพ่นสีข้อความว่า "พล.อ.สนธิ วีรบุรุษชาวไทย" และ "กองทัพเพื่อประชาชน" บนตัวถังรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เป็นต้น นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ในบริเวณถนนราชดำเนินให้สัมภาษณ์ว่าไม่ตื่นตะหนก และร่วมถ่ายรูปกับทหารและรถถัง (ซึ่งประดับด้วยดอกไม้ที่ประชาชนมอบให้) เป็นที่ระลึก หรือมอบน้ำ อาหาร ให้แก่ทหารด้วย[21]
  • หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชื่นชมว่า "จากที่ดูภาพในซีเอ็นเอ็น เป็นการยึดอำนาจที่เรียบร้อยที่สุด ไม่มีเสียเลือดเสียเนื้อ เราก็รู้สึกสบายใจว่ามันคงไม่กระทบความเชื่อมั่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ประชาชนยอมรับ ขณะที่ต่างชาติก็รู้สึก ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการลงทุน"[22]
  • สวนดุสิตโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 กันยายน 49 พบว่า 83.98% เห็นด้วยกับรัฐประหาร เนื่องจากเห็นว่าการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนประชาชนที่ไม่เห็นด้วย มีความเห็นว่าภาพลักษณ์ของประเทศอาจตกต่ำลง[23] ผลสำรวจแตกต่างจากโพลสำรวจการเลือกตั้งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทยถึง 49%[24]
  • กลุ่มนักธุรกิจทั่วประเทศแสดงความคิดเห็นโดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิรูปการปกครองครั้งนี้ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจกระทบบ้างแต่ชั่วคราว และจะสยบความวุ่นวายของประเทศ[25]
  • นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจ เนื่องจากประเทศมีปัญหาจากผู้นำที่ไม่ชอบธรรม และบริหารด้วยระบอบเผด็จการประชาธิปไตย จึงควรหยุดระบอบเผด็จการนั้น เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศน้อยที่สุด การปฏิรูปฯ ครั้งนี้เป็นการดีที่ไม่เสียเลือดเนื้อ[25]
  • สมภพ บุนนาค แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น กล่าวเห็นชอบกับ คปค.ว่า "การยึดอำนาจของ คปค.ครั้งนี้ แม้จะขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นชอบ เพราะเป็นการปลดล็อกปมปัญหาของชาติ เพื่อสะสางอุปสรรคสังคมการเมืองให้สามารถเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ผ่านมาเพื่อล้มระบอบทักษิณ ไม่สามารถผ่าทางตันได้ จำเป็นที่ทหารต้องเข้ามาจัดการหาทางออกให้ อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องติดตามต่อว่า ภายหลัง เข้ามาแก้ปัญหาของ คปค.ครั้งนี้จะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เร็ว ตามที่หัวหน้าคณะฯได้ประกาศไว้หรือไม่" และแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารของ คปค.ว่า "กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ว่าประชาชนใช้สิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้งแล้วก็จบ มีบริบทแวดล้อมหลายประการที่ประกอบเป็นระบอบประชาธิปไตย"[26]

ฝ่ายคัดค้าน

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 ช่วงเที่ยงวัน ร้อยตรี ฉลาด วรฉัตร และทวี ไกรคุปต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทวีกางป้ายขนาดใหญ่สองป้ายระบุว่า "กระผม นายทวี ไกรคุปต์ ขออดข้าวประท้วงผู้ที่ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยก" พร้อมแจกจ่ายจดหมายเปิดผนึกของตนให้สื่อมวลชนด้วย ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวร้อยตรีฉลาดขึ้นรถมิตซูบิชิที่มีรถบัสทหารติดตามระบุ ร.๑ พัน๑ รอ. ไปที่หน่วยบังคับบัญชา จากนั้น 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 7 นาย ได้ล็อกตัวทวีขึ้นรถตู้สีขาวและขับออกไปทันที ระหว่างขึ้นรถทวีมีอาการขัดขืน จากนั้นทหารบางส่วนได้เข้าเก็บป้ายประท้วงออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย[27]

ศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาประณามรัฐบาลเผด็จการทหารว่า "ฉีก" รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุด ปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการควบคุมสื่ออย่างเบ็ดเสร็จ ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเรียกร้องประชาชนร่วมกันใส่ชุดดำหรือปลอกแขนดำเพื่อไว้อาลัยประชาธิปไตย[28]

กลุ่มนักศึกษาล้อการเมืองธรรมศาสตร์ขึ้นป้ายคัตเอาต์ขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คัดค้านรัฐประหาร[29]

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร" ชุมนุมและกล่าวแถลงการณ์ที่หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 18.00 น. ซึ่งศูนย์ข่าวสารกิจกรรมนักศึกษาได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วยและกล่าวว่าพวกเขาจะยื่นแถลงการณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อเรียกร้องให้ปกป้องสิทธิในการชุมนุมที่หน้าสยามพารากอน โดยเห็นว่ารัฐบาลชั่วคราวขาดความชอบธรรม และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองได้อย่างแท้จริง[ต้องการอ้างอิง]

กลุ่มผู้ประท้วงที่สยามสแควร์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549

หลังรัฐประหาร มีการประท้วงครั้งแรกหน้าห้างสยามเซ็นเตอร์ เมื่อเย็นวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยมีผู้ประท้วงประมาณ 20-100 คนหรือมากกว่า[30][31][32][33][34][35][36][37] ผู้ประท้วงแต่งชุดดำไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย และเชิญชวนให้ประชาชนที่คัดค้านรัฐประหารใส่เสื้อดำประท้วง[38]) ป้ายประท้วงมีข้อความ "No to Thaksin. No to coup" ("ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร") และ "Don't call it reform - it's a coup" ("อย่าเรียกปฏิรูป มันคือรัฐประหาร") มีป้ายหนึ่งเป็นรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกำกับว่า "On vacation again" ("พักร้อนอีกครั้ง") รองศาสตราจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้ประท้วง กล่าวว่า "เราเชื่อว่าเราเป็นกระบอกเสียงของคนไทยอีกมากที่ยังเป็นห่วงหรือที่ยังกลัวที่จะพูดออกมา" ไม่มีผู้ใดถูกจับกุม แต่ตำรวจนายหนึ่งกล่าวว่า "ตำรวจได้บันทึกวิดีโอการประท้วงไว้เป็นหลักฐาน และจะตรวจสอบเทปเพื่อหาผู้ที่ละเมิดกฎอัยการศึก คือ มีการชุมนุมทางการเมืองมากกว่า 5 คน" ไม่มีใครรู้ว่าต่อมาตำรวจหรือทหารได้จับกุมเขาเหล่านั้นหรือไม่ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ไทยช่องใดรายงานเรื่องการประท้วงครั้งนี้[38] หนังสือพิมพ์ ดิอินดีเพนเดนต์ รายงานว่าตำรวจติดอาวุธหลายนายฝ่าฝูงชนและผู้ชุมนุมเข้าจับกุมผู้ประท้วงซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงไม่ทราบชื่อคนหนึ่งซึ่งนับเป็นผู้ประท้วงคนแรก ขณะกำลังอ่านแถลงการณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยมีตำรวจนายหนึ่งใช้ปืนกระแทกที่บริเวณท้องของเธอและจับกุม ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายคนต่างพยายามฉุดเธอกลับ[39]

วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 17.00 น. กลุ่มประท้วงกลุ่มที่สองซึ่งประกอบด้วยผู้ประท้วงจำนวน 50-60 คน ชุมนุมที่ลานปรีดี หน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่ออภิปรายคัดค้านรัฐประหารและจัดเสวนาหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร?" ซึ่งจัดโดยศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชื่อ"กลุ่มโดมแดง", เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ, นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยระบุว่าเป็น "อารยะขัดขืน" ภาคปฏิบัติ อุเชนทร์ เชียงแสน ผู้ก่อตั้งกลุ่มโดมแดงกล่าวว่า "ถ้าพวกเขา [ทหาร] จับกุมหรือทำร้ายเรา เราจะไม่สู้ แต่นี่แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปทางการเมืองตามที่ คปค.กล่าวอ้างเป็นเรื่องโกหก"[40] การชุมนุมครั้งนี้กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงโดยมีการขึงป้ายผ้าที่มีข้อความว่า "Council of Demented and Ridiculous Military" การชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากวี่แววของเจ้าหน้าที่[41]

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2549 มีผู้กล่าวโทษพลเอก สนธิ บุญยรัตกลินกับพวกในฐานความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งดีเอสไอรับเรื่องไว้ดำเนินการตามกฎหมาย ตามเลขรับ ที่ 03614 พอทางกองทัพบกและรัฐบาลได้ทราบ จึงได้มีคำสั่งให้ยุติเรื่องดังกล่าว โดยยึดถือตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ได้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดทุกกรณีของคณะปฏิรูปฯ แต่ดีเอสไอได้แย้งว่า พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษต่างจากกฎหมายอย่างอื่น ที่กฎหมายแม่สามารถหักล้างกฎหมายลูกได้ กล่าวคือ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษและกรมสอบสวนคดีพิเศษตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาทางกฎหมายกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นสนธิสัญญาความร่วมมือแนวนโยบายและปฏิบัติระหว่างสำนักสอบสวนกลางและหน่วยงานสอบสวนกลางของประเทศในกลุ่มภาคีสมาชิกเพื่อต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง นิรโทษกรรมตามรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถกระทำได้[42]

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 16.00 น. "เครือข่ายนิสิตจุฬาฯ เพื่อเสรีภาพ" จัดเสวนากลางแจ้งในหัวข้อ "ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร" ที่ลานหน้าตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์, ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ร่วมอภิปราย[43] วันเดียวกัน "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย เชียงใหม่" ได้จัดเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ "เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองไทยได้อย่างไร" ที่บริเวณลานสนามหญ้า หน้าคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะที่การเสวนาดำเนินไประยะหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรภูพิงค์ พร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย ขอความร่วมมือให้ผู้จัดยุติการเสวนา เนื่องจากขัดต่อประกาศกฎอัยการศึก แต่การเสวนาก็ดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียด กระทั่งผู้จัดประกาศเลิกการเสวนา เมื่อเวลา 19.40 น.[44]

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 12:46 น. นวมทอง ไพรวัลย์ อายุ 60 ปี ขับรถแท็กซี่พ่นสีคำว่า "พลีชีพ" ที่กระโปรงท้าย ส่วนบริเวณด้านข้างประตูรถทั้งสองข้างพ่นเป็นตัวหนังสือจับใจความว่า "พวกทำลายประเทศ" ​พุ่งเข้าชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า​จนรถพังยับเยิน และตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และตาซ้ายบวมเป่ง หลังจากนั้นแท๊กซี่จำนวนหลายร้อยคันรีบรุดไปเยี่ยมแต่ถูกห้ามไม่ให้เข้าเยี่ยม ไม่มีการรายงานข่าวนี้[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เวลา 17:00-18:00 น. เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัด ‘อารยะขัดขืนภาคปฏิบัติสัญจร’ ด้วยการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน บริเวณหน้ากองบัญชาการทหารบก ถนนราชดำเนินนอก (ตรงข้ามเวทีมวยราชดำเนิน) มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง และในช่วงท้ายยังมีการจุดไฟเผารัฐธรรนูญชั่วคราวของ คปค. เพื่อแสดงความไม่ยอมรับในการเข้ามาทำหน้าที่ของ คปค.[ต้องการอ้างอิง]

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นักศึกษาและญาติร่วมพิธีเวียนประทีปจากลานโพธิ์ไปรอบสนามฟุตบอลในงาน "30 ปี 6 ตุลา" เพื่อรำลึกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เวลาประมาณ 14.00 น. ที่หอประชุมเล็ก มธ. มีการจัดเสวนาในหัวข้อ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ชำระ" โดยมี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศ. (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, ผศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ ร่วมเสวนา โดยมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับ 19 กันยายน 2549 ว่าเมื่อมีการนำมาพูดคุยกันก็เกิดการทะเลาะกันตลอด แต่ไม่มีการนองเลือดเหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลา[45]

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2549 มีการรวมตัวกันอีกในงานรำลึกวีรชน 14 ตุลาฯ มีเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร เริ่ม 16:30 น. ใช้สัญลักษณ์คือชุดดำ เพื่อไว้อาลัยให้กับประชาธิปไตย โดยเวลา 19.50 น.เคลื่อนขบวนมาจากบริเวณสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเริ่มขบวนหัวแถวอยู่ประตูใหญ่ท้ายแถวอยู่หน้าตึกคณะวารสารฯ เคลื่อนมาหยุดยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินเพื่อประท้วงรัฐประหาร ระหว่างทางร้องตะโกนว่า "คปค.ออกไป" จากนั้นตั้งแผ่นป้าย "ขอไว้อาลัยแด่ รธน.ฉบับประชาชน" และป้ายผ้าไม่มี ปชต.ในระบบเผด็จการ และจุดเทียนไว้อาลัย[46]

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2549 กลุ่มผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสังคมไทย เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายแรงงาน กว่า 200 คน เดินขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอปฏิรูปการเมือง ตลอดจนการประกาศยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยภาคประชาชน ผู้ชุมนุมถือป้ายผ้าข้อความเรียกร้องต่าง ๆ เช่น "ยกเลิกกฎอัยการศึก" "ค่าแรงขั้นต่ำ 7,000 บาท" "Right Base not Charity Base" โดยมีทหารราว 20 นายเฝ้าจับตา ทั้งหมดมีอาวุธพร้อมรบและกระจายกำลังจุดละ 2 นายในมุมตึกต่าง ๆ ก่อนที่ขบวนจะเดินทางกลับสู่อนุสรณ์สถานฯ ทหารนายหนึ่งขอเชิญตัวผู้แจกใบปลิว โดยระบุว่าข้อความในใบปลิวขัดต่อกฎอัยการศึก ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้ามาห้อมล้อม ทหารนายนั้นจึงกล่าวว่า "ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง"[47]

จดหมายลาตายของนวมทอง ไพรวัลย์

เมื่อกลางดึกของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นวมทอง ไพรวัลย์ได้ผูกคอเสียชีวิตบนสะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีรังสิต หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมด้วยจดหมายประท้วงรัฐบาลโดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า "เหตุที่ผมกระทำการพลีชีพครั้งที่ 2 โดยการทำลายตัวเอง เพื่อมิให้เสียทรัพย์เหมือนครั้งแรก ก็เพื่อลบคำสบประมาทของท่านรองโฆษก คปค. (พันเอก อัคร ทิพย์โรจน์) ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า 'ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้'"[ต้องการอ้างอิง]

1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ประชาชนจำนวน 200 คน ได้มาชุมนุมกันเพื่อขับไล่พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติโดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และจัดการเลือกตั้งภายใน 2 เดือน ชนาพัทธ์ ณ นครและวรัญชัย โชคชนะ ผู้นำกลุ่มพิราบขาว กล่าวโจมตีคณะรัฐประหาร และเชิดชูวีรกรรมของนวมทอง ไพรวัลย์ ช่วงค่ำแกนนำกลุ่มเครือข่าย 19 กันยาฯ ตามมาสมทบการชุมนุม[48]

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 เวลา 19.00 น. กลุ่มพันธมิตรต่อต้านรัฐประหารซึ่งนำโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ได้เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมทบด้วยกลุ่มพิราบขาว 2006 รวมทั้งมวลชนบางส่วนที่ท้องสนามหลวงร่วมกันเดินไปตามถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปจนถึงหน้ากองทัพบก เพื่อประกาศเจตนารมย์ต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และให้ยกเลิกกฎอัยการศึกโดยทันที การชุมนุมในครั้งนี้มีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 700 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายกลุ่มมวลชน อาทิเช่นกลุ่มกรรมกรปฏิรูป, ตัวแทนนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, กลุ่มพิราบขาว 2006 และประชาชนผู้สนใจ การชุมนุมยุติลงในเวลา 20.00 น.[49]

ความคิดเห็น

วันที่ 24 กันยายน สำนักวิจัยเอแบค โพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเชิงประเมินผลของประชาชนต่อสังคมไทยและคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนต้องการ : กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,550 คน ระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน[50] พบว่า

  • ร้อยละ 92.1 รู้สึกว่าทหารเป็นที่พึ่งได้
  • ร้อยละ 89.1 รู้สึกปลอดภัย
  • ร้อยละ 87 รู้สึกทหารเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
  • ร้อยละ 82.6 รู้สึกอบอุ่น
  • ร้อยละ 24.9 รู้สึกกังวล
  • ร้อยละ 20.5 รู้สึกไม่สะดวก
  • ร้อยละ 19.7 รู้สึกตกใจ
  • ร้อยละ 7.6 รู้สึกไม่ชอบ
  • ร้อยละ 6.5 รู้สึกกลัว

ในต่างประเทศ

  • พันธมิตรฯ ใน ลอสแอนเจลิส ชุมนุมพร้อมออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปการปกครองฯ ปฏิรูปทั้งการเมือง การศึกษาและสังคม หน้าสถานกงสุลใหญ่[ต้องการอ้างอิง]
  • พันธมิตรฯ ในนครชิคาโก ออกแถลงการณ์สนับสนุนคณะปฏิรูปฯ เมื่อที่ 19 กันยายน (ตามเวลานครชิคาโก) ซึ่งเดิมได้นัดรวมตัวกันประท้วงขับไล่พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับพันธมิตรฯในไทย ได้เปลี่ยนมาเป็นการชุมนุมแสดงความยินดี หลังจากทราบข่าวรัฐประหาร[ต้องการอ้างอิง]
  • ในนครนิวยอร์ก มีการรวมตัวสนับสนุนคณะปฏิรูปฯ หน้าสหประชาชาติโดยมีการถือป้ายล้อเลียนพันตำรวจโททักษิณ[51]
  • กลุ่มนักศึกษาไทยระดับปริญญาบัณฑิต มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด กลุ่ม Oxford Initiative (OI) ได้ประชุมประจำเดือนกันที่ร้านรอยัลโอ๊คผับ และแถลงแสดงความเสียใจและคัดค้านรัฐประหาร[52]
  • สื่อมวลชนในประเทศมาเลเซียออกข่าวว่า "หากไม่มีความจำเป็นขอให้ประชาชนงดเดินทางข้ามแดนไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปฏิรูปการปกครอง และมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะถูกจับกุมดำเนินคดีได้ หากทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์" แต่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์ว่าเหตุการณ์ไม่ได้รุนแรง และไม่ได้เป็นไปตามสื่อต่างประเทศประโคมข่าวแต่อย่างใด[53]
  • ในประเทศเกาหลีใต้ มีการรวมตัวต่อต้านรัฐประหารหน้าสถานทูตไทยในกรุงโซลเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2549[54]

ในโลกอินเทอร์เน็ต

  • เกิดปรากฏการณ์จำนวนสมาชิกออนไลน์อยู่มากเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาค่ำของวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการตั้ง/ตอบกระทู้รายงานสถานการณ์รัฐประหาร และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง มีคนเข้ามาเขียนต่อท้ายยาวไปเป็นสิบหน้า อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน[55]
  • มีผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายปกป้องรัฐธรรมนูญ ประชาชนไทย[56] ระบุว่าได้มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก หน้าสถานกงสุลไทย ในเว็บไซต์ดังกล่าวยังไม่ปรากฏภาพถ่าย รายชื่อกลุ่มบุคคล หรือหลักฐานอ้างอิงอื่น[ต้องการอ้างอิง]
  • มีการรวบรวมรายชื่อในจดหมายเปิดผนึกของศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เพื่อขอร้องให้ คปค. ไม่จับและไม่ทำร้ายผู้ประท้วงการกระทำของ คปค. ผ่านเว็บไซต์ petitiononline.com[57]

กลุ่มสิทธิมนุษยชน

  • ศาสตราจารย์ เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เห็นว่าการปฏิรูปการปกครองฯครั้งนี้ เข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ศ.เสน่ห์ มีความเห็นว่า "อย่ามองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้น ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลัง แต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"[58] คำให้สัมภาษณ์ของเสน่ห์ถูกวิจารณ์จากสุวิทย์ เลิศไกรเมธี ผู้ก่อตั้งเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ว่า "หน้าที่ของเสน่ห์คือเป็นปากเสียงสำหรับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่คำกล่าวของเขากลับตรงกันข้าม" สุวิทย์ได้เรียกร้องให้เสน่ห์ลาออกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[36]
  • ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียขององค์กร Human Right Watch และ นักสิทธิมนุษยชนหลายคน ได้ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของคณะปฏิวัติ[59]
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องว่าเมื่อใดที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็อยากให้ยกเลิกข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ในเรื่องของความเชื่อมั่นของทุกฝ่าย[60]
  • คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ได้กล่าวถึงรัฐประหารว่า "เรามีความวิตกกังวลกับการยึดอำนาจครั้งนี้เป็นอย่างมาก การใช้กำลังทหารครั้งนี้เป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งในขณะนี้ ที่ถึงแม้จะอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาในประเทศไทย ก็กำลังเติบโตหยั่งรากลึก และศาลกำลังมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิวัติรัฐประหารครั้งนี้เป็นการละเมิดกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเทศไทยในปัจจุบันได้พยายามปฏิบัติตามกฎหมายและบทบัญญัติระหว่างประเทศมาโดยตลอด" คณะกรรมการได้เรียกร้องให้ คปค.ประกาศสละอำนาจในทันที และให้มีรัฐบาลรักษาการพลเรือนมาทำหน้าที่บริหารประเทศ และเรียกร้องให้ที่ประชุมสามัญสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ณ กรุงเจนีวา ซึ่งกำลังมีการประชุมกันอยู่ ออกแถลงการณ์ประณามการยึดอำนาจครั้งนี้[61]
  • 24 กันยายน 2549 กลุ่มนักวิชาการสิทธิมนุษยชนจำนวน 23 คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้ร่วมกันลงชื่อคัดค้านรัฐประหาร และทวงคืนสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน ภายใต้หัวข้อ "แถลงการณ์ ทวงคืนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน"[62]

ใกล้เคียง

รัฐประหารในประเทศไทย รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2519 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2534 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2520 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501 รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2494

แหล่งที่มา

WikiPedia: รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 http://english.people.com.cn/200609/20/eng20060920... http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/revolut... http://www.bangkokbiznews.com/2006/special/whiteco... http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=20601080&si... http://www.channelnewsasia.com/stories/afp_asiapac... http://www.cnn.com/2006/WORLD/asiapcf/09/23/thaila... http://www.cnn.com/interactive/world/0609/gallery.... http://www.cnn.com/video/player/player.html?url=/v... http://www.feer.com/articles1/2006/0609/free/p023....